วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

นายกฯปัดปชต.ไทยนิยมเอื้อประโยนชน์ติงบิดเบือน


นายกรัฐมนตรี เผย มีคนบิดเบือนแนวทางไทยนิยมปัดเอื้อประโยนชน์ ยกศาสตร์พระราชานำสร้างสามัคคีปรองดอง ยึดโมเดลลดความยากจน บอกทำแผนปฏิรูป 11 ด้านเสร็จแล้วสอดรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยกล่าวถึงเหตุระเบิดภายในตลาดสดรถไฟพิมลชัย เทศบาลนครยะลา ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานกำลังใจ ดอกไม้ และสิ่งของพระราชทาน แก่ครอบครัวผู้สูญเสีย และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สร้างความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงห่วงใยอย่างหาที่สุด
ทั้งนี้ ตนเองขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอประณามการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมในครั้งนี้ด้วย จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมให้ฝ่ายความมั่นคง เร่งรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อนำไปใช้ในการติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ ก็ถือว่ามีความคืบหน้า และกำลังสอบสวนขยายผลจากผู้ต้องสงสัย
อย่างไรก็ตาม ขอให้เชื่อมั่นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเต็มความสามารถ เพื่อรักษาความสงบสุขของประชาชน ให้กลับคืนมาโดยเร็ว รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชน ช่วยกันสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตา และแจ้งข้อมูลเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่รวมทั้งให้ตรวจสอบกล้อง CCTV ทั้งหมดให้ใช้การได้ตลอดเวลา

นายกฯเผยมีคนบิดเบือนแนวทางไทยนิยมปัดเอื้อโยชน์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือหน้าที่พลเมือง และการเคารพกฎหมาย เพราะจะเป็นสิ่งสะท้อนถึงระดับความเป็นประชาธิปไตยในสังคมมีมาก-น้อยเพียงใด พร้อมยังได้ชี้แจงคำว่าไทยนิยม ว่า ไม่ใช่การสร้างกระแสชาตินิยม เหมือนที่บางคนไม่เข้าใจ และพยายามบิดเบือน แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้ เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นไทย และไม่ทิ้งหลักสากล
อีกทั้งยังระบุว่า ไทยนิยม เป็นการต่อยอดขยายผลจาก ประชารัฐ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม การรับผิดชอบร่วม และรัฐบาลจะแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ทำให้เกิดเป็น "3 ประสาน ก็คือ ราษฎร์, รัฐ และ เอกชน" ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ใคร เพราะทุกคนนั้นอยู่ในห่วงโซ่เศรษฐกิจ ที่จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนด้วยกลไก ประชารัฐ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นมรดกของชาติ มาเป็นหลักคิดสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ

นายกฯยกศาสตร์พระราชานำสร้างสามัคคีปรองดอง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สำหรับการสร้างความสามัคคีปรองดอง จะต้องน้อมนำศาสตร์พระราชา ด้วยการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เพื่อจะมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์และนำพาประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และสิ่งสำคัญไทยติดกับดักการเมือง ที่มีมากกว่าประเทศอื่น จึงต้องแก้ไขให้ได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น จะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ในมิติวัฒนธรรม ความเป็นไทย ตามหลักคิดไทยนิยม และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศ ไปพร้อมๆ กัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน ชลประทาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศของเราไม่ได้ร่ำรวยมากนัก จนสามารถลงทุนทุกอย่างได้ ตามที่ต้องการ ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น จำเป็นต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ มีการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปัจจุบันแม้เราจะกำหนดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแล้ว (SEZ) ไว้ทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 10 แห่ง และรัฐบาลก็คงให้ความสำคัญ กับมาตรการการดูแลผู้มีรายได้น้อย ตามโมเดลลดความยากจนด้วย

นายกฯบอกทำแผนปฏิรูป11ด้านเสร็จแล้วจ่อรับฟังความเห็น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า ในส่วนของการปฏิรูปประเทศ ได้จัดทำร่างแผนปฏิรูปประเทศเสร็จเรียบร้อยในขั้นต้นแล้ว ทั้ง  11 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง, ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน, ด้านกฎหมาย, ด้านกระบวนการยุติธรรม, ด้านเศรษฐกิจ, ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ด้านสาธารณสุข, ด้านสังคม, ด้านพลังงาน, ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมีเป้าหมาย หรือผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนรวมทั้ง มีตัวชี้วัด ประเมินผลสำเร็จตามระยะเวลาได้ 
ทั้งนี้ ในหลายประเด็นปฏิรูป อาจต้องมีการปรับโครงสร้าง กระบวนการทำงานของส่วนราชการ ข้าราชการ ที่เกี่ยวข้องมากมายที่จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน
สำหรับขั้นตอนต่อไป จะมีการเสนอร่างแผนปฏิรูปให้กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณารวมถึง การรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และขั้นตอนอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะๆ
แหล่งข้อมูล http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=838088

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น